วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554


   งานผสมเทียมแพะ ของศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสุราษฎร์ธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งใช้เทคโนโลยีชีวภาพและเผยแพร่องค์ความรู้โดยเฉพาะงานด้านการผสมเทียมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์และกระจายแพะพันธุ์ดีสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อและแพะนมทางภาคใต้ตอนบนทั้ง 7 จังหวัดซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงาและภูเก็ต ปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีการผสมเทียมแพะ 2 วิธี คือ

               1.การเหนี่ยวนำการเป็นสัด (Estrus synchronization) ผสมเทียมโดยกำหนดเวลา
               2.แพะเป็นสัดโดยธรรมชาติ (Natural Estrous) ผสมเทียมตามเวลาที่เหมาะสม

               การผสมเทียมแพะ หมายถึง กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่นำน้ำเชื้อแพะเพศผู้ ฉีดเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของแพะเพศเมีย ในช่วงเวลาที่แพะเพศเมียแสดงอาการเป็นสัดยืนนิ่ง (standing heat) ยอมรับการผสม เพื่อให้เกิดการตั้งท้อง

ข้อดีของการผสมเทียมแพะ
               1.ลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงพ่อพันธุ์แพะ
               2.ช่วยให้พ่อแพะพันธุ์ดีได้ถ่ายทอดพันธุกรรมไปได้อย่างกว้างขวาง
               3. ลดอัตราเสี่ยงจากการแพร่ของโรคอันเนื่องจากการผสมพันธุ์ เช่น โรคแท้งติดต่อ (Blucellosis), โรคข้อและสมองอักเสบ (CAE) เป็นต้น
               4.ช่วยในการปรับปรุงพันธุ์และลดปัญหาการผสมเลือดชิดได้

1.การเหนี่ยวนำการเป็นสัดและผสมเทียมโดยกำหนดเวลา ใช้โปรแกรมการเหนี่ยวนำ ดังนี้
               1. Day 0 การใช้ฮอร์โมน Progesterone ชนิดสอดเข้าช่องคลอด ปัจจุบันมีฮอร์โมนที่ใช้อยู่ 2 รูปแบบคือ EAZI-BREED  CIDR® ( CIDR-G ) ของ Pharmacia & Upjohn  และ Chronogest CR®  (Sponge) ของIntervet

วิธีการปฏิบัติ
               · ล้างทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกของแพะโดยใช้น้ำสะอาดผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น Dettal เป็นต้น
               · เตรียมอุปกรณ์สำหรับสอดฮอร์โมน โดยนำฮอร์โมนใส่ในที่สอด(Applicator)แล้วทาเจลหล่อลื่นและสอดให้เข้าในช่องคลอดให้ลึกถึงหน้าคอมดลูก (Cervix)
               · ดันแกนของที่สอดให้สุดให้ฮอร์โมนค้างอยู่ในช่องคลอด และดึงที่สอดออก ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ Dettal เช็ดให้แห้งเพื่อเตรียมไว้สอดฮอร์โมนในตัวต่อๆไป

               2. Day 15  ฉีดฮอร์โมน PMSG ( Folligon®) ปริมาณ 150 IU ( 0.75 ml. ) และฉีดฮอร์โมน PGF2α (Estrumate® 0.5 ml.) ปริมาณ 125 µg. เข้ากล้ามเนื้อบริเวณคอเช่นกัน

               3. Day 17  ถอดฮอร์โมน (Cidr-G) ที่สอดในช่องคลอดออก สังเกตดูว่ามีการอักเสบของช่องคลอดหรือไม่ ถ้าพบว่ามีหนองปนออกมากับแท่งฮอร์โมนหรือเมือกมีสีผิดปกติ ให้พิจารณาที่จะล้างช่องคลอดด้วยน้ำเกลือ NSS

               4. Day 18  สังเกตอาการเป็นสัดโดยใช้แพะตัวผู้ทีเบี่ยงเบนลึงค์ช่วยในการตรวจ (ทั้งเวลาเช้า กลางวัน และเย็น) หลังถอดฮอร์โมน พร้อมกับบันทึกอาการและเวลาเป็นสัด โดยปกติแพะจะเป็นสัดประมาณ 24 ชั่วโมงหลังถอดฮอร์โมน Cidr-G

               5. Day 19/20 ผสมเทียมครั้งที่ 1 หลังถอดฮอร์โมน Cidr-G ประมาณ 48 ±3 ชั่วโมง ( ชั่วโมงที่ 45-51) และผสมเทียมครั้งที่ 2 ที่เวลาประมาณ 72 ±3 ชั่วโมง ( ชั่วโมงที่ 69-75) หลังถอดฮอร์โมน Cidr-G

โปรแกรมการเหนี่ยวนำการเป็นสัดด้วยฮอร์โมน CIDR-G

ฮอร์โมน CIDR-G (Controlled Internal Drug Releasing device - Goat) ที่สอดฮอร์โมน

2.แพะเป็นสัดธรรมชาติและผสมเทียมในเวลาที่เหมาะสม
               หลังสังเกตพบอาการเป็นสัดยืนนิ่ง (standing heat) จะผสมเทียม  2 ครั้ง ดังนี้
               1. ผสมเทียมครั้งแรกหลังพบแพะเป็นสัดยืนนิ่ง 24 ชั่วโมง
               2. ผสมเทียมครั้งที่สองห่างจากผสมเทียมครั้งแรก 24 ชั่วโมง หรือหลังพบเป็นสัดยืนนิ่ง 48 ชั่วโมง และหากหลังการผสมเทียมครั้งที่ 2 ถ้าแพะยังเป็นสัดยืนนิ่งให้ผสมเทียมครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่สอง 12 ชั่วโมง

อุปกรณ์ในการผสมเทียมแพะ
               1. ซองหรือแท่นสำหรับควบคุมแพะขณะผสมเทียม เป็นซองที่ทำขึ้นเพื่อจัดท่าทางแพะขณะผสมเทียมได้ง่าย โดยจะจับแพะให้อยู่ในท่ายกก้นแพะให้สูงขึ้นให้ขาหลังพาดไปกับซองเพื่อให้ง่ายต่อการผสมเทียม ในบางครั้งอาจไม่ต้องใช้ก็ได้ โดยจะให้ผู้ช่วยจับแพะให้อยู่ในท่ายกก้นให้สูงขึ้น แต่ถ้าผสมหลายตัวจะทำให้เมื่อยได้ง่าย
               2. อุปกรณ์ถ่างช่องคลอดและไฟส่องสว่าง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ถ่างช่องคลอดเพื่อให้มองเห็นคอมดลูก (External os) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะต้องสอดปืนผสมเทียมเข้าไปภายในมดลูก และต้องมีไฟฉายที่ติดอยู่กับศีรษะสำหรับส่องดูภายในช่องคลอดด้วย หรือใช้ที่ถ่างช่องคลอดที่มีไฟฉายในตัวเองภายในซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานสะดวกยิ่งขึ้น
               3. น้ำเชื้อแช่แข็งแพะพร้อมอุปกรณ์ละลายน้ำเชื้อ  น้ำเชื้อแช่แข็งแพะ จะต้องเตรียมมาให้พร้อมใช้งานโดยจะเก็บไว้ในถังสนาม และจะต้องมีอุปกรณ์ในการละลายน้ำเชื้อให้พร้อม ประกอบด้วย กระติกเทอร์โมสใส่น้ำอุ่น เทอร์โมมิเตอร์ ปากคีบหลอดน้ำเชื้อ กรรไกรตัดหลอดน้ำเชื้อ กระดาษทิชชู่เช็ดหลอดน้ำเชื้อ เจลหล่อลื่น
               4. ปืนผสมเทียมและพลาสติกชีท ปืนผสมเทียมแพะ เป็นอุปกรณ์สำหรับผสมเทียมแพะโดยเฉพาะ ซึ่งมีขนาดเล็กและสั้นกว่าของโค และมีให้เลือกใช้หลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ตามปกติปืนผสมเทียมแต่ละยี่ห้อจะต้องใช้ร่วมกับพลาสติกชีทยี่ห้อนั้นๆ ไม่สามารถใช้ร่วมกันต่างยี่ห้อได้ นอกจากนี้ยังมีปืนผสมเทียมบางยี่ห้อที่ไม่ต้องใช้พลาสติกชีท ทำให้ใช้งานได้สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องพลาสติกชีท แต่จะมีข้อเสียในเรื่องการทำความสะอาดได้ยาก
               5. แบบบันทึกการผสมเทียมแพะ
อุปกรณ์ผสมเทียม
 
 
ขั้นตอนการผสมเทียมแพะ
               1.จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการผสมเทียมให้พร้อมใช้งาน
               2.ละลายน้ำเชื้อแช่แข็ง โดยใช้ปากคีบ คีบหลอดน้ำเชื้อจากถังสนามลงแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 37 ºC นานประมาณ 30 วินาทีในกระติกเทอร์โมสที่เตรียมไว้ นำหลอดน้ำเชื้อขึ้นจากน้ำอุ่นแล้วเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู่  ใส่หลอดน้ำเชื้อในปืนผสมเทียม และตัดปลายหลอดให้ขาด แล้วสวมด้วยพลาสติกชีทที่สะอาด พร้อมที่จะผสมเทียม
               3.ในระหว่างขั้นตอนที่เตรียมน้ำเชื้อ ผู้ช่วยนำแม่แพะใส่ในซองบังคับ พร้อมกับทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกด้วยน้ำสะอาดผสมยาฆ่าเชื้อ เช่น dettal  เมื่อพร้อมที่จะผสมเทียมให้จับขาหลังทั้ง2 ข้างยกขึ้นพาดไปกับซองผสมเทียมให้ด้านท้ายของแม่แพะสูงกว่าด้านหน้า
               4.ใช้เจลหล่อลื่นทาอุปกรณ์ถ่างช่องคลอดแล้วสอดเข้าช่องคลอดพร้อมกับใช้ไฟฉายส่องดูคอมดลูก (external os) ถ้าพบว่ามีหนองหรือเมือกปริมาณมากภายในช่องคลอด ให้พิจารณาชะล้างช่องคลอดด้วยน้ำเกลือNSS ก่อนสอดปืนผสมเทียม
               5.นำปืนผสมเทียมที่เตรียมพร้อมแล้วสอดเข้าไปในช่องเปิดของ external Os ของคอมดลูก (cervix) โดยพยายามค่อย ๆ สอดเข้าไปอย่างช้าๆ ให้ผ่านคอมดลูกเข้าไปในตัวมดลูก (body of uterus) ตามปกติในระหว่างที่แม่แพะเป็นสัดคอมดลูกจะเปิดและมีเมือกหล่อลื่นช่วยให้สอดผ่านได้ง่ายขึ้น เมื่อสอดผ่านคอมดลูกจะมีความรู้สึกว่าลื่นไหลไม่ติดขัดอะไร เมื่อแน่ใจว่าสอดผ่านเข้าไปในตัวมดลูกแล้วให้ค่อย ๆ ดันก้านปืนฉีดน้ำเชื้อปล่อยน้ำเชื้อช้า ๆ พร้อมกับค่อย ๆ ถอยปืนผสมเทียมออกมาจากมดลูก ในกรณีที่สอดปืนผสมเทียมไม่ผ่านคอมดลูกเข้าไปในตัวมดลูก อาจเนื่องจากคอมดลูกคด ก็ให้ฉีดปล่อยน้ำเชื้อช้า ๆ ที่ภายในคอมดลูกพร้อมกับค่อย ๆ ถอยปืนผสมเทียมออกจาก คอมดลูกอย่างช้า ๆ เช่นกัน เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับของน้ำเชื้อเข้ามาในปืนผสมเทียม
               6.เมื่อฉีดปล่อยน้ำเชื้อจนหมด จับแพะให้อยู่ในท่าเดิมเหมือนตอนผสมเทียม นานประมาณ 1 นาที เพื่อให้น้ำเชื้อไหลเข้าไปในมดลูกได้ดียิ่งขึ้น
               7.บันทึกข้อมูลในแบบบันทึกต่าง ๆ เช่น ผท.1, ผท.9 และบันทึกข้อสังเกตต่าง ๆ ในการผสมเทียม เป็นต้น

ขั้นตอนการผสมเทียมแพะ
  

 1.จัดเตรียมอุปกรณ์
 2.ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอก
3.ยกขาหลังแพะขึ้นพาดกับซองบังคับ 
 
 4.ละลายน้ำเชื้อแช่แข็งในน้ำอุ่น
 5.ใส่หลอดน้ำเชื้อในปืนผสมเทียมให้พร้อม
 5.ทาเจลหล่อลื่นที่ตัวถ่างช่องคลอด
 
 6.สอดที่ถ่างเข้าในช่องคลอด
 ตำแหน่งที่จะสอดปืนเข้าคอมดลูก
 7.สอดปืนผสมเทียมเข้ามดลูก ปล่อยน้ำเชื้อ

 ตำแหน่งที่ปล่อยน้ำเชื้อ
ตำแหน่งปล่อยน้ำเชื้อ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น